หมู่เกาะสิมิลัน (Mu Ko Similan)
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 8 องศา 28ลิปดาถึง 9 องศา 15 ลิปดาเหนือ ตัดกับลองติจูดที่ 97 องศา ถึง 97 องศา 50 ลิปดาตะวันออก ในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประมาณ 70 กิโลเมตร และห่างจากท่าเทียบเรือหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 90 กิโลเมตร เกาะเมียงหรือเกาะสี่เป็นที่ตั้ง “สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือมลายู แปลว่า “เก้า” จึงมีชื่อเรียกกันว่า หมู่เกาะสิมิลัน หรือเกาะเก้า ประกอบไปด้วยเกาะใหญ่น้อย 9 เกาะด้วยกัน เกาะทั้งเก้าเรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง
หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ลำดับที่ 43 ในปี พ.ศ. 2525 มีขนาดพื้นที่ 128 ตารางกิโลเมตร (80,000 ไร่) และในปี 2541 ได้ผนวกพื้นที่บริเวณ “เกาะตาชัย” เพิ่มอีก 12 ตารางกิโลเมตร เข้าเป็นอุทยานแห่งชาติครอบคลุมพื้นที่เกาะและห้วงน้ำทะเลรอบเกาะที่มีปะการังสมบูรณ์ ในท้องที่เกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 140 ตารางกิโลเมตร (87,500 ไร่) พื้นที่เกาะซึ่งเป็นที่ดินมีประมาณ 26 ตารางกิโลเมตร (16,250 ไร่) ชายฝั่งทะเลในหมู่เกาะสิมิลัน เป็นส่วนภาคตะวันออกของทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดียที่มีการลดตัวลงของพื้นทะเล(SUBMERGENT SHORELINE) จึงมีการกัดเซาะพังทลายโดยมีน้ำทะเลเป็นตัวกระทำอย่างรุนแรงทำให้บริเวณเกาะทั้ง 9 เกาะ เกิดเป็นลักษณะภูมิประเทศที่แปลกตา มีรูปร่างต่างๆ อันเป็นผลจากขบวนการกัดเซาะ สำหรับหินที่พบในหมู่เกาะสิมิลัน ทั้ง 9 เกาะ เป็นหินอัคนีชนิด granite อายุของหินนี้อยู่ระหว่างยุค Tertiary – cretaceous ประมาณ 65 ล้านปีที่ผ่าน
ขนาดพื้นที่ 87500.00 ไร่
หน่วยงานในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่สล.1(เกาะเมียง)หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่สล.2(เกาะสิมิลัน)หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ สล.3(เกาะตาชัย)
- ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ประกอบด้วยพื้นดินที่เป็นเกาะต่างๆ เขาหินแกรนิตสูงชัน หาดทราย โขดหิน ลักษณะรูปร่างต่างๆ ชายฝั่งของเกาะต่างๆ มีลักษณะเว้าแหว่งไม่เป็นระเบียบ เนื่องจากตั้งอยู่ในส่วนทะเลนอก ได้รับอิทธิพลจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลโดยตรง เรียงตัวตามแนวทิศเหนือใต้ พื้นน้ำเป็นส่วนหนึ่งของทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดียตะวันออก บริเวณไหล่ทวีปติดชายฝั่งตะวันตกของจังหวัดพังงาและประเทศพม่า คู่ขนานกับแนวเกาะนิโคบาร์ ที่เป็นไหล่ทวีปของประเทศอินเดีย ตามชายหาดหรือสันทรายจะไม่มีดินเลนให้เห็นจึงเป็นชายหาดที่ขาวสะอาด สวยงาม อนุภาค ทรายมีขนาดเล็กละเอียด ส่วนที่เป็นยอดเขาจะเป็นเขาโดดสูงชัน ยอดเขาสูงสุดมีความสูง 244 เมตร จากระดับน้ำทะเล บางเกาะมีลักษณะแบนราบล้อมรอบด้วยเนินทรายและแนวปะการัง
- ลักษณะภูมิอากาศ
ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม - เดือนตุลาคม อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 83 % ปริมาณน้ำฝนแต่ละปีเฉลี่ย 3,560 มิลลิเมตร ปริมาณการระเหยของน้ำแต่ละปีเฉลี่ย 1,708 มิลลิเมตร ช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้
*****ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี*****เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน - 30 เมษายน ของทุกปี
- พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
1. ป่าชายหาด มีลักษณะโปร่งพบพันธุ์ไม้กระจัดกระจายมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร ได้แก่ หูกวาง จิกเล สารภีทะเล ไม้ยืนต้นขนาดเล็กและไม้พุ่มขนาดใหญ่ ความสูงไม่เกิน 10 เมตร เช่น ตะบัน หงอนไก่ทะเล ปอทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีไม้พุ่มขนาดเล็ก เช่น ชิงชี่ ก้างปลาทะเล เตยทะเล เป็นต้น พืชคลุมดินที่พบ เช่น พืชตระกูลถั่ว พวกถั่วผี ผักราด หญ้าที่พบตามชายหาด เช่น หญ้าหวาย หญ้าขุย ไม้ไผ่ พืชอาศัย ได้แก่ นมพิจิตร ข้าหลวงหลังลาย เป็นต้น
2. ป่าละเมาะ เป็นสังคมของไม้พุ่มที่เจริญเติบโตได้บนดินที่มีความลึกของชั้นดินไม่เกิน 30 เซนติเมตร พรรณไม้ที่พบไม่หนาแน่นนัก เช่น กระบองเพชร จันทน์ผา ไม้พุ่มขนาดเล็กที่พบทั่วไป ได้แก่ พลอง นกนอน เป็นต้น
3. ป่าดงดิบ ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ความสูง 20 เมตรขึ้นไป ได้แก่ ยางปาย ยูง สะยา ไม้ยืนต้นขนาดรองลงมา ความสูง 15-20 เมตร ได้แก่ ขนุนนก เม่า โมกป่า ไม้ยืนต้นขนาดกลางความสูง 10-15 เมตร ที่พบ เช่น กระเบา รักป่า เนียน เป็นต้น มักพบ ไผ่ป่า หวาย ปาล์ม ขึ้นปะปน ไม้เลื้อย ไม้เถาว์ที่พบ เช่น พลูฉีก เสี้ยวเครือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบกล้วยไม้และกาฝากเกาะตามกิ่งก้านไม้ขนาดใหญ่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญหาพบได้ยาก ได้แก่ ละมุดป่า และงวงช้างทะเล พบเฉพาะเกาะใหญ่ในทะเลอันดามัน พืชที่กินผลหรือใบอ่อนได้ เช่น ละมุดป่า มะปริง มะหวด เนียง ผักหวาน และชิงชี่ เป็นต้น
สัตว์ป่า
- จากการสำรวจสามารถจำแนกได้ดังนี้
1.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ค้างคาวแม่ไก่เกาะ ค้างคาวปีกถุงเคราดำ พญากระรอกดำ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ เช่น โลมาหัวขวด เป็นต้น
2.สัตว์เลื้อยคลาน ประกอบด้วย เต่าทะเลที่สำคัญได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่ากระ นอกจากนี้ยังพบพวกเหี้ย แลน กระรอก เป็นจำนวนมาก ส่วนจำพวกงู ไม่เคยพบงูที่มีพิษ งูที่พบมากได้แก่ งูเหลือม
3.นก ที่พบได้บ่อยในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีดังนี้1. นกที่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศไทย และไม่อพยพย้ายถิ่น เช่น เหยี่ยวแดง นกกวัก เป็นต้น2. นกที่จัดเป็นนกอพยพ เข้ามาในประเทศไทยบางฤดูกาล เช่น นกปากซ่อมหางเข็ม นกเด้าลมหลังเทา3. นกประจำถิ่นและบางครั้งมีการอพยพย้ายถิ่น ได้แก่ นกนางแอ่นบ้าน นกยางควาย นกอีลุ้ม และนกนางนวลแกลบสีกุหลาบ เป็นต้น4.ปลา ที่สำคัญที่พบเป็นพวกปลาทะเล ได้แก่ ปลาฉลาม ปลากระโทงเทง ปลากระเบน ปลาบิน ปักเป้าทะเล รวมตลอดถึงปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในแหล่งปะการังอีกหลายชนิด เช่น ปลาผีเสื้อ ปลานางฟ้า และปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจอีกหลายชนิด
- สัตว์ประเภทอื่นที่สำคัญ สำหรับพันธุ์สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ปะการัง และแมงกระพรุน ซึ่งปะการังโดยรอบหมู่เกาะสิมิลัน ส่วนใหญ่เป็นปะการังน้ำลึก เท่าที่สำรวจพบ ได้แก่ ปะการังใบไม้ ปะการังแปรงล้างขวด ปะการังรูพรุน นอกจากนี้ยังมีปะการังที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และปะการังพรุนแบบฟองน้ำอีกหลายชนิด ทั้งยังพบพวกกัลปังหาอีกเป็นจำนวนมากด้วย
ภาพหินเรือใบ เป็นภาพสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซิ่งตั้งอยู่ที่เกาะ8 (สิมิลัน) ที่มีความงดงามมาก และถือเป็นจุดเด่นของสิมิลัน
1.เกาะตาชัย เป็นเกาะที่เพิ่งประกาศให้อยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน เมื่อวันที่ 25กันยายน 2541โดยมีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันในท้องที่ ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี เป็นเกาะที่ยังคงรักษาสภาพธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดเตรียมสถานที่กางเต๊นท์ไว้ให้บริการ มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน คือ ลานกางเต๊นท์ที่กว้างขวางร่มครึ้มใต้ร่มไม้ซึ่งมองเห็นหาดทรายขาวสะอาด ห้องน้ำชาย-หญิง ร้านอาหารสวัสดิการที่คอยให้บริการตั้งแต่ 8โมงเช้าถึง 2ทุ่มทุกวัน เส้นทางศึกษาธรรมชาติ และสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความโรแมนติกในยามเย็น ทางอุทยานแห่งชาติได้จัดทำเส้นทางไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เดินเท้าระยะสั้นๆ ประมาณ 20นาที ไปชมพระอาทิตย์ตก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ดำน้ำตื้น บริเวณรอบๆ เกาะมีปะการังที่อุดมสมบูรณ์สวยงามมาก
2.เกาะบอน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะทะลุ เป็นเกาะเป็นแหล่งที่อยู่ของปลาที่ชุกชุมมาก จุดเด่นคือ สะพานหิน ที่เกิดจากหินที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนเป็นโพรงมองคล้ายสะพานโค้งข้ามแม่น้ำ เป็นเกาะที่นักดำน้ำสามารถทักทายกับเจ้ายักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเล นั่นคือ เจ้ากระเบนราหู ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพบได้ง่ายกว่าแหล่งท่องเที่ยวแหล่งอื่น
3.เกาะบางู หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะเก้า สภาพของเกาะเป็นหิน หน้าผา ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะ มีหินโผล่น้ำ ซึ่งเป็นแหล่งปะการังที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักดำน้ำลึกว่า "คริสต์มัสพอยต์" นอกจากนี้บริเวณรอบๆ เกาะ ยังมีแหล่งดำน้ำตื้นด้วย
4.เกาะปายัง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะสอง เป็นเกาะที่มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาหิน รอบเกาะเป็นหน้าผา และโขดหิน ไม่มีหาดทราย
5.เกาะปายู หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะหก มีลักษณะของเกาะเป็นภูเขาหิน เป็นหน้าผา มีชายหาดด้านตะวันออก แนวปะการังบริเวณนี้กว้างประมาณ 150-200เมตร ด้านตะวันตกเป็นหน้าผาสูงชัน ไม่มีแนวปะการังที่ชัดเจน แต่มีกองหินและปะการังขึ้นกระจาย มีปะการังก้อนขนาดใหญ่อยู่บ้างในความลึก 20เมตร ด้านเหนือเป็นแหลมเล็กๆ ด้านใต้เป็นแนวหิน
6.เกาะปาหยัน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะสาม มีสภาพทั่วไปของเกาะเป็นหิน ลักษณะเป็นหน้าผา ไม่มีหาดทราย แต่เป็นแหล่งดำน้ำลึกที่นักดำน้ำลึกนิยมอีกแห่งหนึ่ง มีการขนานนามบริเวณนี้ว่า สันฉลาม บ้างก็ขนานนามว่า กำแพงเมืองจีน ซึ่งเรียกตามลักษณะกำแพงหินธรรมชาติใต้น้ำที่มีความโอฬารมาก บริเวณนี้จะพบฝูงปลาจำนวนมากที่แวะเวียนมาหากินอยู่ข้างๆ กำแพงหินธรรมชาติใต้น้ำ เช่น ฝูงปลาสาก และยังมีกัลปังหาที่มีสีสันสวยงามอีกเป็นจำนวนมาก
7.เกาะเมียง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะสี่ เป็นเกาะที่มีขนาดพื้นที่รองจากเกาะสิมิลัน เป็นที่ตั้งที่ทำการอุทยานแห่งชาติ (บนเกาะ) ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร บ้านพักนักท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เกาะนี้มีแนวหาดทราย 2หาด สามารถเดินถึงกันได้โดยใช้เวลาในการเดินประมาณ 20นาที หาดหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เป็นหาดทราย ยาวประมาณ 400เมตร ทรายขาวละเอียดและสวยมากที่สุดแห่งหนึ่งในเมืองไทย น้ำทะเลสีฟ้า เหมาะสำหรับลงเล่นน้ำได้ มีปะการังกระจายอยู่เป็นกลุ่ม ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของหาดมีแนวปะการังต่อเนื่องไปถึงแนวหินยาว ทำให้บริเวณนี้เป็นจุดดำตื้นได้อย่างสบายๆ เพราะไม่ต้องเดินหรือว่ายน้ำจากหาดหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ
8.หาดเล็ก เป็นหาดอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะ สามารถเดินจากหาดหน้าที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ตามทางเดินเท้าประมาณ 300เมตร ทางเดินเท้าจะผ่านป่าดิบชื้นสมบูรณ์ เหมาะสำหรับเดินศึกษาธรรมชาติ ที่สำคัญ คือ เป็นจุดชมปูไก่ ที่หาดูได้ยาก บริเวณหาดเล็ก มีทรายที่ขาวสะอาด น้ำทะเลสวยใส มีแนวปะการังขนาดเล็กกระจายเป็นหย่อมๆ เหมาะสำหรับดำน้ำตื้นเช่นกัน
9.เกาะสิมิลัน หรือ เกาะแปด เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะสิมิลัน ระดับน้ำทะเลในบริเวณรอบเกาะสิมิลันค่อนข้างลึก มีระดับโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 100-120ฟุต ซึ่งใต้น้ำสมบูรณ์ไปด้วยปะการัง กัลปังหา พัดทะเล และกุ้งมังกร เกาะสิมิลันจะมีอ่าวเล็กๆ อยู่ทางตะวันตกของเกาะ อ่าวเกาะสิมิลันมีรูปโค้งเหมือนเกือกม้า น้ำลึกโดยเฉลี่ย 60ฟุต ใต้ท้องทะเลอุดม สมบูรณ์ไปด้วยกองหินและแนวปะการัง มีปลาเล็ก ปลาน้อยมากมาย สภาพหาดสวยงามมากเหมาะสำหรับการดำน้ำดูปลาและปะการังทางด้านเหนือของอ่าว เป็นเกาะแก่งเล็กๆ ใต้น้ำอุดมไปด้วยปะการังเขากวาง ปะการังดอกเห็ดขนาดใหญ่ ทางใต้ของอ่าวเป็นโขดหินสลับกับแนวปะการังไปเป็นระยะตลอดแนวอ่าว ด้านทิศเหนือของเกาะมีก้อนหินขนาดยักษ์รูปร่างคล้ายรองเท้าบู้ท หรือหัวของโดนัลดักของวอลท์ดิสนีย์ ก้อนหินนี้เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของเกาะสิมิลัน หรือเกาะแปด เลยทีเดียว
10.เกาะห้า เป็นเกาะเล็กๆ แต่เป็นจุดดำน้ำที่น่าสนใจ และงดงาม มีเอกลักษณ์ของเกาะ คือ ปลาไหลสีขาวเทา ที่ชอบโผล่หัวชูคอขึ้นมาจากรู จนได้ชื่อว่า สวนปลาไหล บริเวณนี้ยังเต็มไปด้วยปะการังอ่อน ปะการังแข็งที่มีอยู่มากมาย
11.เกาะหินปูซาร์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะเจ็ด มีลักษณะเป็นหินโผล่ กว้างประมาณ 30เมตร มีผาหิน สามารถว่ายน้ำลัดเลาะไปมา ตามหน้าผาพบปะการังอ่อน มีทัศนวิสัยในการดำน้ำลึกดีมาก สามารถมองเห็นได้กว้างไกล รอบด้านเป็นกองหินความลึกประมาณ 20-50เมตร มีหุบเหวใต้น้ำ บริเวณนี้มีปลาหลายชนิด เช่น ปลาสลิดหินสามจุด ลูกปลานกขุนทอง และปลาฉลาม ออกจากแนวกองหินไปทางด้านใต้ มีกัลปังหาขึ้นอยู่บนลานกระจายที่ความลึก 30เมตร ลงไปเรื่อย ๆ อาจพบเต่าทะเลและกระเบนราหู
12.เกาะหูยง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกาะหนึ่ง เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวสะอาด และยาวมากที่สุดในบรรดาเกาะทั้งหมด ซึ่งหาดของเกาะนี้เป็นที่วางไข่ของเต่าทะเลหลายชนิด หากจะไปท่องเที่ยวที่เกาะแห่งนี้ ควรติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติก่อน
12.จุดชมวิวลานข้าหลวง ตั้งอยู่บนเกาะสี่ (เกาะเมียง) ซึ่งเป็นจุดชมวิวที่งดงามจุดหนึ่งของเกาะสี่ โดยจะมีเฟิร์นข้าหลวงขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากและมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีทัศนียภาพที่สามารถมองได้กว้างไกล สุดสายตา สามารถมองเห็นเกาะต่างๆ ได้หมดทุกเกาะ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงเส้นทางให้มีป้ายสื่อความหมาย เพื่ออธิบายแก่นักท่องเที่ยว และมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับและบริการนักท่องเที่ยว
ที่ตั้งและแผนที่
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน
ภาพแผนที่
ตำบลลำแก่น อำเภอท้ายเหมือง
จังหวัดพังงา 82210
โทรศัพท์ 076-453272
โทรสาร 076-453273
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ : นายภานุมาศ สามสีเนียม
สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2554) . ค้นคืนเมื่อ
กันยายน 14 , 2554 , จาก http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.
php?PTA_CODE=1043
php?PTA_CODE=1043
หมู่เกาะสิมิลัน. (2554). ค้นคืนเมื่อ กันยายน ,14 , 2554 , จาก http://www.oceansmile.com/
S/Phangnga/ForestSeaSimilan.htm
หมู่เกาะสิมิลัน. ( 2554) . ค้นคืนเมื่อ กัยยายน ,14 , 2554 , จาก http://www.dooasia.com/
phangnga/066j010.shtml
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น